นิตยสารหญิงไทย
บทความ ฉบับที่ 711 ปีที่ 30 ปักษ์หลัง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548
http://www.yingthai-mag.com/detail.asp?ytcolumnid=2835&ytissueid=711&ytcolcatid=2&ytauthorid=138
คิด เห็น ประเด็นข่าว: โรคดอทคอม
นับวันมือถือและอินเทอร์เนต ได้เข้ามาจับจองเนื้อที่ในชีวิตประจำวันของคนเราเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และกลายเป็นดาบสองคมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายประเทศเริ่มเล็งถึงการใช้อย่างมีกฎกติกา และมารยาทมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยผู้พิสมัยจะเดินรอยตามกลับลืมคิดไปว่า โลกไร้พรมแดนย่อมมีทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ขึ้นอยู่กับการรู้เท่าทันมัน
ที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนสูงสุด กำลังเป็นดินแดนที่สถิติ การฆ่าตัวตายหมู่พุ่งทะยานอย่างผิดปกติ เฉพาะเดือนมกราคม ปีกลายถึงมิถุนายนปีนี้ ตัวเลขอยู่ที่ 45 คน ยังไม่นับรวมพวกฆ่าตัวตายรายบุคคลซึ่งมียอด 32,000 คนต่อปี อุบัติการณ์สังหารหมู่ล้วนแล้วแต่เป็นการฆ่าตัวตายหมู่แบบพิสดาร โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากอินเทอร์เนต ในอังกฤษเกิดเหตุชายวัยกลางคนที่อาศัยแช็ตรูมในเนต จนสาวน้อยสาวใหญ่หลงคารมตกเป็นเหยื่อยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย จากนั้นก็จะถูกทิ้งอย่างไม่ไยดี เว็บไซต์ที่เขาเช่าอยู่ ถูกถอดออกเนื่องมาจากมีคนร้องเรียน ไม่นานเขาก็หาเว็บไซต์ใหม่ลวงล่อสาว ๆ ต่อไป
ผู้หญิงและเด็กคือเหยื่ออันโอชะในธุรกิจอินเทอร์เนตเสมอ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มุ่งความห่วงใยไปที่ เด็กมากกว่าด้วยเหตุที่ว่า เป็นเรื่องง่าย ที่ผู้อ่อนเยาว์มักจะไว้ใจคนที่ตนเองสนทนาด้วยในโลกไซเบอร์ พวกเขามักจะสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมา อินกับมันและท้ายที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะให้ความไว้วางใจ จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันเด็กร้อยละ 46 และวัยรุ่นร้อยละ 84 ไม่ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องในการใช้อินเทอร์เนต เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองขาดความรู้และการเอาใจใส่ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่พิษภัยจากสื่อชนิดนี้ จะกระทบเด็กและเยาวชนโดยตรง
ข้อมูลที่รายงานโดยเอฟบีไอระบุว่า ระหว่างปี 2541-2544 มีคดีคุกคามทางอินเทอร์เนต ส่วนใหญ่เป็นการปล้นและโจรกรรมเด็กเพิ่มขึ้นถึง 2,050 คดี ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯรายงาน 1 ใน 5 ของเด็กที่อายุ 10-13 ปี ถูกล่อลวงทางเพศผ่านอินเทอร์เนต ทุกวันนี้เฉพาะในกูเกิล ภายในเวลา 0.5 วินาที เด็ก ๆ ก็สามารถ ค้นหาเว็บลามกได้มากถึง 216 ล้านแห่ง บางเว็บมีบริการดาวน์โหลดหนังลามกให้ดูฟรีเสียด้วยซ้ำ ส่วนในห้องสนทนา ก็เต็มไปด้วยเรื่องเซ็กซ์ที่ชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์หรือหาคู่นอน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์อย่างไมโครซอฟท์เอง ยังรู้สึกกังวลกับปัญหาการล่วงละเมิดเด็กในโลกออนไลน์ และหาทางพัฒนาซอฟท์แวร์ออนไลน์ของตนเอง ให้สามารถป้องกัน และสืบย้อนรอยไปหาอาชญากรในโลกไซเบอร์ให้ได้ แต่วิธีการที่ดีที่สุดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็คือ ผู้ปกครองควรเรียนรู้เท่าทันโลกอินเทอร์เนต และคอยสอดส่องดูแลลูกหลานให้คำแนะนำเด็ก
โรคติดเนตเป็นอีกเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาหนักอกของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ลักษณะอาการคล้ายกับการติดพนันแบบถอนตัวไม่ขึ้น หมกมุ่นอยู่กับอินเทอร์เนตไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จึงใช้อินเทอร์เนตนานกว่าที่ตั้งใจไว้และจะสำแดงความหงุดหงิดเมื่อจ้องใช้น้อยลงหรือไม่ได้ใช้มัน ขณะนี้เด็กทั่วโลกจำนวนมากตกอยู่ในสภาพเสพติดเนต สำหรับสถานการณ์เด็กไทย จากการสำรวจโดยโครงการติดตามเฝ้าดูเด็กและเยาวชนของ สกว. ในปี 2546 พบวัยรุ่นระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาน่าเป็นห่วง เฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นในเขตอำเภอเมืองนิยมใช้บริการร้านอินเทอร์เนตถึง 50 % และมีถึงร้อยละ 10 ที่เช่าร้าน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเล่นเกมส์กับเเช็ต ขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เนต 20,000 รายส่วนใหญ่อายุระหว่าง 10-14 ปี แต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายตกเดือนละ 2,500 บาท ใช้เวลาออนไลน์สัปดาห์ละ 9.2 ชั่วโมง กิจกรรม 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ค้นหาข้อมูลอี-เมลและเล่นเกม
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทุกครั้งที่เด็กคลิกอินเทอร์เนต โอกาสที่จะเจอะเจอกับเว็บร้ายที่เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่รายวันย่อมมีตลอดเวลา นับจากไซเบอร์เซ็กซ์ หรือเว็บลามกที่เรียกกันในหมู่คนเล่นเนตว่า พอร์น ซึ่งมีกว่า 106 ล้านเว็บ เว็บพนันมีกว่า 4 ล้านเว็บ
ส่วนเด็กติดเกมก็อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าไม่รู้เท่าทันแล้วรีบแก้ไขอาการอาจรุนแรงถึงขั้นไม่กลับบ้าน เพราะทุกวันนี้นักพัฒนาเกมส์คอมพิวเตอร์ มีไม้เด็ดใหม่ ๆ ที่จะสร้างแรงจูงใจดึงผู้เล่นให้อยู่กับเกมจนผูกติดกันได้ เช่น อาศัยจิตวิทยาที่ว่าคนอยากรู้ตอนจบ ก็จะไม่ยอมให้เปิดไปถึงตอนจบง่าย ๆ คนต้องการเอาชนะ ก็จะหลอกล่อที่จะเอาชนะตัวละครในเกมให้ได้ เมื่อชนะขั้นหนึ่งแล้วก็จะเสนอให้แข่งขันอีกขั้นหนึ่งต่อไปเรื่อย ๆ นักจิตวิทยาระบุว่าเด็กบางคน ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการแข่งขันในชีวิตจริงเลย แถมเป็นผู้แพ้ตลอดกาลจะสามารถแข่งขันอยู่กับเกมโดยไม่รู้สึกเบื่อ นักพัฒนาเกมยังสร้างความรู้สึกอยากเป็นผู้นำให้กับคนเล่นเกม โดยทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพหรือผู้ว่าการมหานคร สนองความต้องการของคนเล่น ที่ชีวิตจริงไม่มีโอกาสเป็นผู้นำใคร และสุดท้ายเกมสามารถสร้างโลกจำลองที่ผู้เล่นพึงประสงค์ กลุ่มเสี่ยงจึงได้แก่เด็กที่มีอารมณ์ช่างคิดช่างฝัน ซึ่งผู้ปกครองควรใส่ใจให้มาก
พ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยคิดว่า ลูกหมกมุ่นอยู่กับเกมส์คอมพิวเตอร์ ดีกว่าออกไปเที่ยวเตร่กับเพื่อนนอกบ้าน ด้วยภาวะเศรษฐกิจทำใม่มีเวลาตามดูตามชี้แนะ จึงพอใจที่จะเห็นสิ่งที่ทำให้ลูกหยุดการเคลื่อนไหวไปในทางลบ ลืมนึกถึงผลกระทบที่ตามมา จนในที่สุดลูกตกอยู่ในสภาพติดเกม
ปัจจุบันกรมสุขภาพจิต โดย สภาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้จัดตั้งศูนย์บำบัดเด็กติดเกมออนไลน์ วิธีการบำบัดมีอยู่ 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น ถ้าเด็กเพิ่งเริ่มเล่น จะอบรมผู้ปกครองเพื่อให้รู้จักแบ่งเวลาให้ลูกได้ถูกต้อง ต่อมาถ้าเด็กใช้เงินสิ้นเปลืองกับเกมมากขึ้น จะมีการพาผู้ปกครองและเด็กเข้าค่ายครอบครัวในต่างจังหวัดเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน และระดับสุดท้าย ถ้าเด็กติดเกมอย่างหนักถึงใช้เวลาว่างทั้งหมดไปกับการเล่นเกม ก็จะต้องเข้าไปบำบัดที่ศูนย์ทุกวันวันละ 2 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทั้งนี้เด็กจะได้มีโอกาสเข้ากลุ่มกันเพื่อให้รู้จักเล่นกับเพื่อน
เป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับเด็กที่ติดเกมส์ออนไลน์ จนใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มีอยู่ไปกับมัน และจะไม่ยอมเลิกเล่น เมื่อบังคับจะเกิดความหงุดหงิดก้าวร้าว หากมีปฏิกิริยาเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรรีบนำเด็กเข้ารับการบำบัด มิฉะนั้นเด็กจะเกิดอาการซึมเศร้าเก็บตัว มีผลต่อร่างกายเช่นประสาทตาเสื่อม ปวดตามเนื้อตัวและขาดอาหาร ผลทางสังคมทำให้ไม่รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น ปรึกษาสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ได้ที่ 0-2345-8300 ในวันและเวลาราชการ
ผลการวิจัยในขณะนี้พบว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่กับเกมส์คอมพิวเตอร์นาน 3 ชั่วโมงติดต่อกัน จะขาดสติ จิตใจไม่สามารถแยกแยะถูกผิด ควบคุมตัวเองไม่ได้ และถึงขั้นวิกลจริต ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติ 4 มาตรการควบคุมเกมส์ออนไลน์ ตั้งแต่จำกัดชั่วโมงเล่นในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน ห้ามพนันชิงโชคจดทะเบียนร้านอินเทอร์เนต และรณรงค์ให้ผู้ปกครองทราบถึงพิษภัย ก่อนที่เกมส์ออนไลน์จะทำร้ายครอบครัวไทย