thaiall logomy background
ตัวอย่าง เว็บนรก/เว็บ น่ะ รก
my town
บทนำ
สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหลักการสามัญเกี่ยวกับเว็บที่ควรจะมีเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้รวมความถึงทุกด้าน หนังสือการออกแบบเว็บส่วนใหญ่มีสองประเภท ประเภทแรกเป็นหนังสือดีไซน์สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ ที่เขียนโดยนักออกแบบสิ่งพิมพ์หรือกราฟิก หนังสือประเภทนี้สวยแต่รูป แต่ผู้เขียนหนังสือมักจะไม่เข้าใจว่ารูปแต่ละ KB นั้นแลกด้วยเวลาในชีวิตของผู้รอคอย พวกนี้มักจะเน้นรูปสวยโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้โหลด เพราะสื่อสิ่งพิมพ์นั้นไม่มีเวลาที่ต้องใช้โหลด เราพลิกหนังสือแล้วเห็นภาพได้ทันที หนังสือดีไซน์ประเภทนี้จึงสวยน่าสนใจ แต่พึงระวังว่าจะนำมาใช้ได้จริงหรือไม่
หนังสือออกแบบอีกประเภทหนึ่ง เน้นเทคนิคการเขียน HTML และเป็นเหตุผลของเว็บเพจนรกจำนวนมาก เพราะคนที่เขียน HTML เป็นก่อนที่จะเข้าใจการออกแบบเว็บไซท์ มักจะผิดพลาดโดยใช้เทคนิคประดามีใน HTML เพื่อความอยากลองเล่นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเรียนรู้มา และหนังสือเหล่านี้บอกแต่เทคนิคโดยไม่บอกข้อเสียและข้อควรคิดของการใช้เทคนิคเหล่านั้น เทคนิคส่วนใหญ่เหล่านี้สนุกสำหรับคนทำ แต่ไม่ได้มีประโยชน์และน่าสนุกสำหรับผู้อ่านแต่อย่างใด
เว็บเพจที่ดี จะต้องดีด้วยเนื้อหาสาระในหน้านั้น ต่อให้เว็บเพจจะสวยเพียงไร หรือมีรูปกราฟิกเท่ หรือใช้สีสันสวยอย่างไร หากเนื้อหาไม่ดึงดูดใจแล้ว คนจะไม่กลับมาชมอีก รูปที่สวยนั้นดูไปนานๆ ก็ต้องเบื่อเข้าสักวัน เราจะรอเว็บที่แสนสวยแต่โหลดนานนับนาทีได้อย่างไรทุกวัน ดูครั้งเดียวก็ไม่อดทนรอจะดูซ้ำแล้ว แต่เนื้อหาที่ดีนั้นจะอยู่ตลอดไป และทำให้คนกลับเข้ามาดูแล้วดูอีก Jacob Nielson ยกตัวอย่างได้น่าฟังเรื่องโทรศัพท์ ทำไมโทรศัพท์จึงได้รับความนิยม ทั้งที่การออกแบบก็ไม่สะดวก คุณต้องจำตัวเลขตั้งหลายตัวของคนๆ เดียว แถมคนเดียวนั้นอาจจะมีเบอร์ที่บ้าน ที่ทำงาน มือถือ ฯลฯ และคุณภาพของเสียงในโทรศัพท์ก็ไม่ได้ดีอะไร บางทีมีคลื่นแทรก บางทีก็ไม่ชัด เสียงคนที่เราคุยด้วยก็ไม่ได้เหมือนเสียงเขาจริงๆ ทุกอย่าง แต่ถึงอย่างนั้น โทรศัพท์ก็เป็นที่นิยมใช้ เพราะเราไม่แคร์คุณภาพเสียงว่าต้องดีเลิศ เราแคร์บทสนทนาที่เป็นเนื้อหาสาระในนั้นต่างหาก เว็บเพจก็เช่นกัน ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับเนื้อหาเลย เนื้อหาสาระนั้นมาจากตัวเราเอง และเราทุกคนมีสิ่งพิเศษในตัวที่น่าสนใจทั้งนั้น มาทำให้เว็บเพจของคุณน่าสนใจด้วยเสน่ห์ของตัวคุณเอง และด้วยการนึกถึงคนอ่านให้มากกว่านึกถึงตัวคุณเอง
Copyright @ 2000 faylicity.com
บทนำ
ขอพักเรื่องคณิตศาสตร์และใช้ภาคกาลีกล่าวถึงเว็บเพจนรกสักนิด เราเรียนรู้วิธีการออกแบบเว็บเพจที่ดีได้วิธีหนึ่ง ด้วยการไปรู้จักตัวอย่างเว็บเพจที่เลวก่อน แต่ละเว็บย่อมมีข้อดีและข้อเสียของตัวเองในระดับน้อยมากต่างกันไป และสิ่งต่อไปนี้คือความคิดเห็นเรื่องเว็บเพจของผู้เขียนในภาคกาลีที่ไม่ได้มีความรู้แจ้งในเรื่องนี้ และย่อมไม่ถูกต้องสำหรับคนอื่นทุกคนไป หากผู้อ่านชื่นชอบและเห็นว่าคุณสมบัติที่เรียกว่าเว็บเพจนรกนั้นดี ฉันก็ไม่มีความตั้งใจจะเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณแต่อย่างใด และกรุณาให้อภัยกับรสนิยมของฉันที่ต่างจากคุณ และที่สำคัญ อย่าได้เชื่อฉันจนกว่าคุณจะได้ไตร่ตรองคิดเองอย่างถ้วนถี่แล้ว
คุณสมบัติที่เห็นได้ง่าย และชัดเจนที่สุดของเว็บนรก คือ การใช้ตัวหนังสือกะพริบ ลวดลายสีสันที่ทำให้เว็บอ่านยาก และภาพกราฟิกหรืออนิเมชันขนาดใหญ่มากเกินจำเป็น
1. วูบวาบ
การใช้ตัวหนังสือกะพริบหรือสิ่งกะพริบเคลื่อนไหวใดๆ ในเว็บเพจ คือการทำร้ายจิตใจคนอ่าน ชีวิตของคนที่เข้ามาอ่านเว็บเพจของคุณอาจจะทุกข์ระทมพออยู่แล้ว เราไม่ควรเพิ่มทุกขเวทนาให้คนเหล่านั้นยิ่งขึ้นด้วยการใส่ตัวหนังสือกะพริบ หรือสิ่งกะพริบวูบวาบ หากผู้อ่านต้องการสิ่งเหล่านี้จริง พวกเขาคงไปแอตแลนติกซิตี้ หรือลาสเวกัส หรือสถานเริงรมย์ยามค่ำคืนมากกว่าจะมาที่เว็บของคุณ ตัวหนังสือกะพริบเป็นความหยาบคายที่บอกต่อคนอ่านอย่างเก็บความรู้สึกไว้ในใจไม่ได้ว่า "อ่านฉันสิ อ่านฉันเดี๋ยวนี้" และถ้าคุณไม่แน่ใจว่าการใช้ตัวหนังสือกะพริบในกรณีใดจีงจะเหมาะสม ก็ขอให้รู้ว่าการใช้ตัวหนังสือกะพริบ ไม่ว่ากรณีใดนั้น ถือเป็นความหยาบคายที่ไม่เหมาะสม
2. ไม่ชอบ new
บางคนบอกว่าการติดรูปเล็กๆ กะพริบว่า New เพื่อบอกให้ผู้ชมเว็บทราบว่านี่คือสิ่งใหม่ น่าจะใช้ได้และถูกต้อง หากจะทำอย่างนั้นจริงแล้ว ตัวหนังสือ New ควรกะพริบอยู่ไม่นานและจากนั้นให้หยุดนิ่ง คำว่า New เป็นศัพท์ที่ค่อนข้างไร้ความหมาย เพราะสิ่งใหม่ของผู้อ่านแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่ใหม่สำหรับคุณอาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับฉัน และสิ่งใหม่ที่ฉันเห็นเดี๋ยวนี้ อีกห้านาทีต่อไปก็ไม่ใช่สิ่งใหม่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นการป่าวร้องตะโกนว่าใหม่จึงไม่มีความหมายแต่อย่างใด
3. เมายา
เว็บที่ดีควรจะพยายามควบคุมความเคลื่อนไหวในเพจนั้นให้น้อยที่สุด เพราะไม่มีประโยชน์ที่คุณต้องแสดงตัวว่าเพจนี้กำลังเมายาบ้า เว็บเพจที่ดีนั้นน่าสนใจได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบังคับสายตาคนอ่าน คุณเคยเห็นโฆษณาวูบวาบใช้สีฉูดฉาดบาดตาบ้างไหม เราไม่จำเป็นต้องทำให้เว็บบาดตาคนอย่างนั้น เจ้าของเว็บควรเชื่อใจว่าคนอ่านมีสติปัญญาพอจะตัดสินว่าอะไรคือสิ่งใหม่ สิ่งดี อะไรควรค่าน่าสนใจ การออกแบบที่ดี จะทำให้คนอ่านรู้ได้ไม่ยากว่าอะไรคือสิ่งที่เว็บนั้นเน้นบอกกับเรา
:)
4. ป้ายโฆษณา
แบนเนอร์หรือแผ่นป้ายโฆษณามักจะกะพริบบ้าคลั่ง และใช้สีสันทำร้ายสายตาคน ที่เป็นเช่นนี้เพราะจุดมุ่งหมายของโฆษณาคือทำให้คุณหันมาสนใจ และโฆษณาเหล่านั้นไม่คำนึงถึงจิตใจและร่างกายของคุณแม้แต่น้อย ว่าจะประทุษกรรมอย่างไรบ้างต่อประสาทรับภาพของคนดู โฆษณาพวกนี้ชั่วร้ายและนับวันก็ยิ่งสรรหาวิธีการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าโฆษณาพวกนี้สามารถจะกระโดดออกจากจอคอมพิวเตอร์มาควักลูกตาของเราให้หันมองได้ ก็คงจะทำไปแล้ว แต่ที่ชั่วร้ายกว่านั้นคือประเพณีที่คนบางกลุ่มคิดว่าความวูบวาบเร่งเร้าที่แบนเนอร์นำเสนอเป็นวัฒนธรรมประจำเว็บ ที่ดูแล้วมีคุณค่าทำให้เป็นมืออาชีพ เว็บหลายแห่งจึงพยายามสร้างแบนเนอร์และสิ่งข่มขืนดวงตาลงในเว็บของตนเอง เราน่าจะสื่อสิ่งที่เราจะบอกต่อผู้อ่านได้ โดยไม่ต้องขู่เข็ญตะคอกกันเช่นนี้ เพราะการทำเว็บมิใช่การรับน้องที่ป่าเถื่อน เรื่องเศร้าก็คือผู้คนจำนวนมากคิดว่าการมีสิ่งกะพริบเป็นการบอกความเป็นมืออาชีพ และทำให้เว็บนั้นดูมีคุณค่า ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
:)
5. พี้นที่มีค่า
คุณรู้ไหมว่าพื้นที่ในหน้าจอของเรามีค่า และพื้นที่ที่สำคัญและมีค่าที่สุด ก็คือพื้นที่ที่เว็บจะปรากฎบนจอให้เรามองเห็น โดยที่เรายังไม่ต้องเลื่อนจอลงไปดูข้างล่าง เหตุผลนี้เอง ทำให้แบนเนอร์โฆษณาเลือกจะอยู่ที่พื้นที่บนสุด เพื่อให้คุณเห็นได้ทันที การจัดวางหน้าของเราจึงควรคำนึงถึงเปอร์เซนต์ของเนื้อที่ใช้สอยที่มีประโยชน์ เทียบกับเปอร์เซนต์ของเนื้อที่ที่ไร้ความจำเป็น เช่นแบนเนอร์ โลโก้ของเว็บที่มีก็ไม่ควรกินที่ครึ่งหน้าเป็นต้น ขบวนลิงค์ดุเดือด โฆษณาซ้ายขวา ลองถามตัวเองว่าผู้ที่เข้ามานั้น จะได้อะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของเขามากกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ของเนื้อที่ทั้งหมดหรือไม่ หรือเราให้แต่เขาต้องทนดูอะไรที่ไร้สาระ ที่แม้แต่เราก็ยังไม่เคยชายตาดู
:)
6. เบื้องหลังน่ารังเกียจ
เว็บเพจจำนวนมากใช้ภาพพื้นที่ทำให้เว็บเพจนั้นอ่านไม่ออก อาจจะเป็นลวดลายหลากสีที่เจ้าของเว็บไซท์พึงใจ ภาพพื้นต่ำทรามเหล่านี้มักมีให้โหลดได้ฟรีตามไซท์ทั่วไป เป็นความน่ารังเกียจที่แถมให้กับเว็บไซท์คุณฟรีๆ เว็บเพจควรทำให้คนที่เข้ามาชมสามารถอ่านข้อความในนั้นรู้เรื่อง โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร
:)
7. ใช้สีไม่เป็น
บางเว็บไซท์ก็ใช้สีสันที่น่าตกใจ ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีเว็บไซท์จำนวนมากใช้พื้นสีแดงจัดจ้า และสีอื่นๆ ที่ไม่น่าผ่านความคิดออกมาได้เลย เรื่องสีเป็นความชอบเฉพาะบุคคลที่ตัดสินกันได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่บอกถึงรสนิยมของเจ้าของเว็บได้ และพึงระลึกว่าสีที่ดูดีในเครื่องของคุณเอง อาจจะไม่ได้ดูดีแบบนี้ในเครื่องของคนอื่น แม้แต่สีที่ใช้บนพีซี กับแมคอินทอชก็ต่างกันแล้ว และบางเครื่องตั้งสี 256 สีขณะที่บางเครื่องตั้งเป็นพันสี เราไม่รู้ได้ว่าคนอื่นจะเห็นหน้าตาของเพจเราอย่างที่เราหวังหรือไม่ และนี่เป็นเรื่องเศร้าที่ต้องทำใจยอมรับในการทำเว็บเพจ หนทางปลอดภัยคือการเผื่อใจไว้มากๆ และทดลองเว็บของคุณกับเบราเซอร์หลายยี่ห้อ หลายรุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามบังคับใจคนอ่านของคุณให้น้อยที่สุด เพราะฟอนต์ที่คุณมีนั้น คนอ่านอาจจะไม่มี เพราะไม่ใช่ว่าคนอ่านทุกคนจะใช้วินโดวส์ภาษาไทยเหมือนเรา อย่าใช้คำว่า click here เพราะคุณไม่รู้ว่าคนอ่านใช้ mouse อยู่หรือไม่ หากเขาชมเว็บจาก Palm Pilot หรือ Web TV พวกเขาเหล่านั้นไม่มี mouse ให้คลิก อิสรภาพที่เว็บนั้นให้ผู้อ่านมากที่สุด อาจจะเป็นผลดีที่สุดกับเว็บนั้นก็ได้
:)
8. ตัวเองเป็นใหญ่
หลายเว็บไซท์ชอบกำกับว่า เว็บนี้แสดงผลได้ดีที่สุดสำหรับ ..ยี่ห้อเบราเซอร์.. ที่มีความละเอียด ...x... สี 16 บิต ฯลฯ การกำกับนี้ไร้ความหมายอีกเช่นกัน แต่เว็บที่เลวร้ายจะจัดการตรวจสอบดูว่าเครื่องของคุณตั้งค่าอย่างไร และเมื่อเห็นว่าไม่ตรงกับมาตรฐานของเจ้าของเว็บ ก็จะอาจหาญบอกว่าคุณควรตั้งค่าที่เครื่องของคุณให้เป็นไปตามนี้ ถ้อยคำโอหังนี้แสดงความไม่แคร์ต่อผู้อ่าน จะมีใครบ้างไหมที่พอเข้าเว็บหนึ่งๆ ก็ต้องเปลี่ยนค่าเครื่องเป็นแบบที่คุณบอก พอเปลี่ยนไปชมอีกเว็บหนึ่งก็ตั้งค่าใหม่ การเขียนกำกับเหล่านี้จึงเป็นสิ่งไร้ความหมายที่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง และแสดงให้ว่าเจ้าของเว็บถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง และไม่เข้าใจว่าในเทคโนโลยีเว็บนั้น เราไม่มีทางบังคับให้เพจหนึ่งๆ แสดงผลในเครื่องอื่นให้เหมือนเครื่องเราได้เลย แม้แต่จะบอกว่าอยากบอกไว้ให้รู้เฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจให้ใครมาตั้งค่าตาม ก็อยากบอกว่าไม่จำเป็นเลย ความรู้จอมปลอมนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตคนที่มาชมเว็บของคุณเลย เทคโนโลยีเว็บไม่ใช่ What You See Is What You Get เว็บเพจที่ดีควรจะอ่านได้ดีที่สุดด้วย ตา ของผู้เข้าชมเว็บ ไม่ใช่ด้วยการตั้งค่าใดๆ
:)
9. ตัวนับกินทราฟฟิก
ฉันไม่ค่อยเชื่อในเคาน์เตอร์ เพราะเคาน์เตอร์ไม่ได้แสดงความหมายอะไร นอกจากจำนวนที่หน้านั้นถูกโหลดขึ้นมา ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เป็นจำนวนผู้เข้ามาชมเว็บเพจจริงๆ (เพราะถ้าคุณกดหน้านั้นซ้ำๆ ตัวเลขก็ขึ้นได้เรื่อยๆ โดยที่จำนวนตัวเลขไม่ได้หมายถึงจำนวนผู้เข้าชมที่ unique อย่างแท้จริง) เว็บเพจจำนวนมากใช้เคาน์เตอร์ปลอมที่จะแสดงตัวเลขอย่างสุ่มมาค่าหนึ่ง เพราะไม่มีใครสนใจจริงจังว่าจำนวนผู้เข้าชมมีเท่าใด แต่สำหรับพวกที่ต่อต้านเคาน์เตอร์มากๆ พวกเขาเรียกว่า "hit counters are nothing but a particularly moronic form of ego display, impressing only the lemming-minded." ข้อเสียของเคาน์เตอร์คือการเพิ่มทราฟฟิกในเน็ตเวิร์ค มีผลให้ World Wide Web กลายเป็น World Wide Wait แต่เจ้าของเว็บส่วนใหญ่ก็ย่อมอยากทราบจำนวนผู้เข้าชม และเคาน์เตอร์อาจมีผลต่อโฆษณาที่จะหาได้ในเว็บ ดังนั้นถึงแม้ฉันจะไม่เชื่อในเคาน์เตอร์ แต่ก็ไม่ได้รังเกียจต่อต้านอะไรนัก
truehits.net
9hit.com
sitemeter.com
10. ใหญ่ไม่แคร์
รูปกราฟิกหรืออนิเมชันที่ใหญ่มากและเสียเวลาโหลดนาน เป็นความหยาบคายต่อผู้ชมเหมือนกัน เพราะนี่คือสิ่งที่เจ้าของเว็บประกาศว่าไม่แคร์ต่อผู้อ่าน ทั้งที่ภาพกราฟิกเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรแม้แต่น้อย เว็บที่บังคับให้ผู้อ่านต้องโหลดภาพ บังคับให้ต้องฟังเพลง midi ที่ฝังไว้ในเว็บ ล้วนแล้วแต่เป็นความไร้มารยาท เพราะสำหรับผู้อ่านแล้ว เพลงและภาพเหล่านี้อาจจะไม่ได้น่าประทับใจเลย เว็บที่เลวร้ายที่สุดคือพวกบังคับให้ฟังเพลง โดยไม่มีปุ่มให้หยุดหรือปิดเพลง หากเจ้าของเว็บคิดว่านี่คือสิ่งจำเป็นต้องมีจริงๆ อย่างน้อยก็ควรให้ทางเลือกกับผู้อ่านที่จะไม่ฟังได้
sony.com
11. ไม่มีคำอธิบายภาพ
รูปกราฟิกทุกรูป ควรจะมี ALT กำกับ ALT คือ Alternate text หรือตัวอักษรที่จะขึ้นแทนรูป ในกรณีที่เครื่องของผู้ชมเว็บได้ตั้งให้ไม่โหลดรูป (เหตุผลที่มีทางเลือกนี้ก็เพื่อเป็นการประกาศอิสรภาพจากพวกนิยมบังคับโหลดรูปข้างต้น) เว็บจำนวนมากชอบใช้รูปกราฟิกทำเป็นปุ่มให้กดเพื่อท่องเว็บ เช่น Next Back Home เป็นต้น สำหรับเครื่องที่ตั้งไว้ไม่ให้โหลดรูป รูปภาพเหล่านี้จะไม่ปรากฎ และปุ่มเหล่านี้จะกลายเป็นช่องว่างของแดนสนธยาให้ผู้ชมเว็บต้องเดาเอาเองว่ากดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น การใส่ ALT จะทำให้ตัวหนังสือปรากฎแทนรูปนั้น และช่วยให้คนชมเว็บไม่ต้องใช้พลังจิตเพื่อเดาใจคุณ
:)
toyota.com
12. ภาพแทนอักษร
น่าแปลกใจที่เว็บจำนวนมากนิยมใช้รูปภาพแทนข้อความที่ใช้ตัวหนังสือเขียนแทนได้ เช่น Home แทนที่จะใช้ลิงค์ที่เป็นตัวหนังสือธรรมดา กลับใช้รูปภาพกราฟิกที่มีตัวหนังสือเขียนว่า Home ทำเป็นปุ่มให้กดแทน ซึ่งไม่ได้ทำให้รับรู้ต่างกันได้อย่างไร นอกจากเพิ่มทราฟฟิกในเน็ตเวิร์ค และเป็นการดูถูกเทคโนโลยี HTML ที่อุตส่าห์มีฟอนต์หลายแบบหลายขนาด หลากสีให้เลือก แต่กลับไม่นำมาใช้ หากตัวหนังสือนั้นไม่ใช่โลโก และคุณไม่ได้ตั้งใจจะทำ Image maps แล้ว (รูปภาพที่ถ้ากดในตำแหน่งต่างๆ กัน จะสร้างลิงค์ไปที่ต่างกัน เช่นแผนที่ประเทศไทย ที่กดแต่ละจังหวัดแล้วจะไปหน้าต่างๆ กัน) ไม่ควรมีเหตุผลจะใช้รูปภาพแทนตัวหนังสือเลย
:)
13. วีนาทีละ KB
แต่ละ 1 KB ที่เราเพิ่มเข้าไปด้วยขนาดของกราฟฟิค จะทำให้คนชมต้องเสียเวลาในชีวิตไปอีกประมาณหนึ่งวินาที เพื่อรอคอยรูปหรือเพลง หรือความไร้สาระอย่างอื่นที่พรากเอาเวลาในชีวิตของคนอ่านให้สั้นลงไป เว็บเพจที่ดีที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าท่องไปได้อย่างสะดวกเพลินใจโดยไม่ต้องรอ ต้องปรากฎขึ้นภายใน 1-2 วินาที คนชมเว็บจะยังสนใจรอได้อยู่หากหน้านั้นโหลดได้ภายใน 10 วินาที แต่หากเกินกว่านั้นแล้ว คนอ่านจะหนีออกจากเว็บนั้น หรือหันไปทำอย่างอื่น เช่นออกไปซื้อกับข้าวหรือซ่อมรถยนต์ แล้วค่อยกลับมาทันเวลาที่เว็บเพจหน้านั้นโหลดเสร็จพอดี เว็บที่จะปรากฎได้ภายในสิบวินาทีจะต้องมีขนาดไม่เกิน 10 kb นัก เราใส่รูปหรือเพลงได้ไม่มากเลยภายในสิบเคนี้
:)
isinthai.com
14. หมู หมา กา ไก่
ความผิดพลาดในการใส่รูปมากเกินไป คล้ายกับความบกพร่องในการใช้สีมากเกินไป สิ่งที่มีพร้อมให้เราใช้ได้ ไม่ได้หมายความว่าการใช้สิ่งเหล่านั้นมากเกินไปจะเป็นสิ่งดี และนิยามความน่ารักของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย รูปหมีหมากาไก่ที่เรียงกันยี่สิบรูป อาจจะดูน่ารักดีสำหรับบางคน แต่เป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือไม่ มีเหตุผลที่รูปจะต้องปรากฎอยู่ที่นั่นหรือไม่ หรือเพียงเพราะตัวเจ้าของเว็บเองเห็นว่าเป็นสิ่งดี และอยากเจือจานให้คนอื่นเห็นทั่วกัน อย่าลืมว่าเจ้าของเว็บควรจะนึกถึงใจคนอื่นมากกว่านึกถึงตัวเอง เพราะคุณกำลังทำเว็บนี้ให้สาธารณะอ่าน
:)
15. หน้ามารยาท
เว็บเพจจำนวนมากมีหน้ามารยาอยู่ เป็นหน้าแรกที่ปรากฎขึ้นมาเมื่อเข้าไปในเว็บไซท์และโหลดช้า หลังจากรอจนซื้อกับข้าวและอะไหล่รถกลับมา และทำกับข้าวได้หนึ่งมื้อ เราพบว่าหน้านั้นมีแต่รูปที่สวยงาม แต่ไม่ได้ความหมายและประโยชน์อันใด นอกจากคำว่า Click เพื่อบอกว่าหลังจากการรอคอยอันไร้ผลนี้ คุณต้องคลิกเข้าไปอีกถึงจะได้เจอเว็บเพจหน้าที่แท้จริง หน้ามารยานี้ควรเขียนคำว่า "ตบฉันที" มากกว่าคำว่าคลิก และคนอ่านส่วนใหญ่ไม่อดทนจะถูกหลอกอีกเป็นครั้งต่อไป หน้ามารยาได้รับความนิยมโดยเฉพาะในบริษัทและองค์กรใหญ่ๆ มากมาย และยังคงมีต่อไปอีกนาน ตราบเท่าที่ผู้คนยังคิดว่านี่เป็นสิ่งสามัญเหมือนกับป้าย Page under construction
:)
16. ขอโทษขอโพย
Page under construction เป็นสิ่งไร้ความหมาย น่าเบื่อ และแสดงระดับความไม่รับผิดชอบในตัวเจ้าของเว็บ ในเว็บเพจไม่ควรมีข้อความขอโทษขอโพยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหากคุณมีเหตุผลจะต้องขอโทษ ย่อมแปลว่าคุณยังไม่มั่นใจว่าหน้านั้นดีพอจะปรากฎให้ใครเห็น และเว็บเพจหน้านั้นก็ไม่ควรให้สาธารณชนเห็น ลิงค์ที่พอกดเข้าไปแล้ว มีแต่คำว่า ขออภัย หน้านี้ยังไม่เสร็จดี กรุณาเข้ามาชมใหม่วันหลัง ถ้อยคำนี้เสมือนคำจารึกเหนือหลุมศพของเว็บไซท์นั้น เพราะน้อยคนจะกลับเข้ามาชมอีก เว็บนั้นทำลายความเชื่อถือและทำลายคุณค่าในตัวเองหมดสิ้นแล้วด้วยน้ำมือตนเอง ผู้ที่เข้าใจว่าถ้อยคำเหล่านี้จะทำให้คนอ่านให้อภัย และเป็นการแสดงความใส่ใจคนอ่านนั้น กำลังเข้าใจผิด เพราะคำขอโทษนี้ไม่น่าให้อภัย และแสดงว่าคุณไม่ใส่ใจต่อคนอ่านต่างหาก
:)
17. โรคจะไปไหนดี
โรคระบาดในเว็บอีกโรคที่ฉันจะขอตั้งชื่อว่า Where-do-we-go-from-here ซินโดรม หรือ โรคจะไปไหนดี โรคนี้ประสบได้ทั่วไป เวลาเราเข้าไปในเว็บที่เสนอทางเลือกร่วมร้อยลิงค์ให้เราเลือกจะไปในหน้าเดียว เมื่อเราเจอสภาพอย่างนั้น สมองเราต้องมึนงงและประมวลข้อมูลอย่างสับสน เราต้องหาว่าเราต้องการอะไรและอาจจะแน่นิ่งไปด้วยความงงว่าจะไปไหนก่อนดี เว็บเพจที่ดีจะต้องไม่ทำให้คนเข้ามาชมต้องออกแรงสมองในการพยายามท่องเว็บ และสมองคนเราจะตัดสินใจเลือกได้ก็ต่อเมื่อทางเลือกนั้นมีไม่มาก ทางเลือกที่เราอยากให้คนตัดสินใจได้ในเวลาหนึ่งๆ จึงมีไม่ควรเกินแปดทางเลือก หากในเว็บจำเป็นจะต้องมีลิงค์จำนวนมากแล้ว เราจะต้องจัดหมวดหมู่ให้คนไปง่าย และเอาลิงค์ย่อยๆ ไว้อีกหน้าต่างหาก การเสนอทางเลือกทั้งหมดให้คนดูชม แทนที่จะเป็นการดี กลับเป็นการทำให้ผู้ชมแตกตื่นตกใจในการลับสมองประลองเชาว์ และเมื่อไม่รู้ว่าจะไปไหนดี ทางเลือกที่ง่ายที่สุดก็คือกด Back เพื่อหนีไปจากเว็บนั้น
:)
thaiall.com
18. ไม่มีรายละเอียดประกอบ link
ลิงค์ทุกลิงค์ในเว็บเพจ ควรมีรายละเอียดสั้นๆ บอกว่าลิงค์นั้นคืออะไรและมีคุณความดีอะไรให้ชักชวนให้เข้าไปชม ลิงค์ที่จะนำไปสู่เพจหรือรูปขนาดใหญ่ จะต้องบอกขนาดกำกับไว้เสมอ (หน้าที่ใหญ่เกิน 50 kb ควรจะต้องบอกกำกับขนาดไว้) หากลิงค์นั้นมีค่าจะปรากฎในเพจ เจ้าของเว็บย่อมสามารถบอกเหตุผลได้ว่าลิงค์นั้นมีความดีงามอะไร โรคระบาดในลิงค์นรกคือคำว่า click here ถ้อยคำที่ขีดเส้นใต้จะดึงดูดความสนใจและโดดเด่นออกมาจากคำอื่นๆ แทนที่จะใช้คำไร้ความหมายว่า ผู้ที่ต้องการสูตรบลูเบอรี่พายให้ click here เราควรทำให้ลิงค์นั้นเป็นคำพูดเข้าใจได้ เช่น สูตรบลูเบอรี่พาย หรือ ไปดูตัวอย่างเว็บเพจนรก http://faylicity.com/crash/hell1.html
:)
yahoo.com
rspsocial
Thaiall.com